Author Archive for Thanai Charoen

30
ต.ค.
07

นวัตกรรมพลิกพลิ้ว

คำไม่มั่น

ไม่นานนัก ความจริงก็ทะยอยโผล่มาทีละเล็กละน้อย หลังจากได้ตั้งคำถามถึงการตัดต้นไม้รอบสนามบอล อันเป็นต้นไม้อยู่คู่ประสานมิตร มานับแต่เกิดสถานศึกษาแห่งนี้ เพื่อสนองคนขับรถส่วนบุคคล คงสร้างความไม่พอใจแก่ประชาคมประสานมิตรพอสมควร แต่นี้คือหน่วยงานราชการมีอาวุโสครอบงำเสรีภาพแห่งความคิด ใครจะทำอะไรได้เล่า

อย่างไรก็ดี ทางผู้บริหารก็ต้องสะดุ้งสะเทือน ชี้แจงแบบ “อีแอบ” แทนที่จะติดประกาศให้หราข้างสนามบอล เพื่อให้ทุกคนรู้ เป็นพันธะผูกพัน กลับไปใช้หน้ากระดาษในจดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย ซุกไว้หน้าใน ด้วยเนื้อที่น้อยนิด แถมยังไม่มีลักษณะชี้แจงอย่างเป็นทางการ ไม่มีการอ้างแหล่งข่าวว่าใครเป็นคนให้ข่าว แต่ทำในลักษณะ “ข่าวปล่อย” ว่า “ต้นไม้ทั้งหมดที่ถูกขุดจะนำไปปลูกไว้ที่ มศว องครักษ์ หลังจากนั้นเมื่อที่จอดรถใต้ดินเรียบร้อย ก็จะนำมาปลูกไว้ที่เดิม” (ยืนยันด้วยหลักฐานภาพถ่าย)

แต่แล้วกลับปรากฎแผ่นป้ายปะข้างรั้วเขียว กั้นพื้นที่ไซต์งานก่อสร้างดั่งภาพที่แสดงไว้แต่แรก (กรุณาคลิ๊กที่ภาพ เพื่อให้ขยายเต็มรูป แล้วอ่านด้วยตัวเองเถิด) อยู่ข้างใต้ป้ายใหญ่อันเดิม เขียนว่า “หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีการปลูกต้นไม้ใหม่ ตามแบบภูมิสถาปัตยกรรม”

สรุปว่า ต้นไม้เก่าแก่พวกนี้ไปแล้วไปลับ ไม่กลับมาฝังรากที่เดิมแล้ว นั่นคือถูกโค่นทิ้งนั่นเอง… ไม่มีใครสนใจตามไปดูหรอก ว่าจะเอาไปปลูกจริง ปลูกแล้วตายหรือเป็น… สุดท้ายแล้ว ก็ไปเอาต้นไม้ที่เขาขุดล้อมขายที่จตุจักรมาปักแทน ต้นละไม่กี่พันหรอกพี่น้อง เอามาปลูกประดับสนามฟุตบอลซึ่งกำลังเกิดข้อสงสัยว่า จะเป็นสนามหญ้าเทียมอันเขียวขจี เพื่อให้ตรงตามคอนเซ็ปต์มหาวิทยาลัยสีเขียว

ที่น่าประหลาด ทำไมไม่ชี้แจงตั้งแต่แรกให้เรียบร้อยสมบูรณ์ แต่กลับกลอกกลิ้งไปมา หรือว่าทำไปคิดไป เฮ้อ… นี่ระดับมหาวิทยาลัยเชียวนะ

27
ต.ค.
07

มหาวิทยาลัยวาทกรรมสีเขียว

เอามาแปะให้อ่านเล่น มองคิดเล่นว่า “จริง” ​หรือป่าว:

‘มศว’ตั้งเป้าเป็น’Green university’โดยจะส่งเนรมิตพื้นที่สีเขียวเชิงอนุรักษ์ในมหาวิทยาลัย และการเป็นแหล่งปลอดสารพิษจากการบริโภค

นายวิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมว่า ขณะนี้ทีมผู้บริหารของ มศว ได้ประชุมและต้องการสร้างให้ มศว เป็น Green University หรือมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สีเขียวของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความสวยงาม ระบบระเบียบและบรรยากาศที่น่าอยู่ภายในมหาวิทยาลัย และต้องการเห็น มศว ปลอดแอลกอฮอล์ บุหรี่ ผงชูรส สารกันบูดในอาหาร ยาชูกำลัง น้ำอัดลม หรือผักที่ใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งล้วนแล้วแต่ไร้ประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น

การดำเนินการนั้นจะใช้วิธีการรณรงค์ให้ทุกคนในมหาวิทยาลัยร่วมกันทำ อีกทั้งต้องใช้ระบบพัฒนาศักยภาพนิสิต ในกระบวนการเรียนการสอน อาจารย์ที่ปรึกษา ในส่วนของร้านค้าหรือร้านขายอาหารในมหาวิทยาลัยนั้น ในเบื้องต้นต้องใช้วิธีเชิญชวน และต้องเขียนเป็นสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ร้านค้าทุกร้านในมหาวิทยาลัยได้รู้ในนโยบาย Green University

ทั้งนี้ หวังไว้ว่า นิสิตที่มาอยู่ในบรรยากาศ Green University ที่กำลังจะดำเนินการในขณะนี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปจะมีสำนึกในแนวคิด Green University อีกทั้งถือเป็นการช่วยรณรงค์โลกร้อน โลกสีเขียว และสำนึกต่อสภาพแวดล้อมจะตามมา แนวทาง Green University ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุก ๆ ฝ่ายในมหาวิทยาลัย และต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน เชื่อว่าผู้นำนิสิต องค์การนิสิต ไม่ว่าจะเป็นสภานิสิต สโมสรนิสิต ชมรมต่าง ๆ สามารถช่วยผลักดันให้ มศว เป็น Green University ได้อย่างมาก

คัดลอก: มศว.ตั้งเป้าเป็น ‘มหาวิทยาลัยสีเขียว’ จากมติชนออนไลน์

เจออีกสำนวน มีรายละเอียดแตกต่างที่น่าสนใจยิิ่ง:

ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมผู้บริหารทุกคนของมศวประชุมและต้องการสร้างให้ มศว เป็น Green University หรือมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ สีเขียวของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความสวยงาม ระบบระเบียบและบรรยากาศที่น่าอยู่ภายในมหาวิทยาลัย และอีกประเด็นหนึ่งที่ได้ตั้งเป็นโจทย์เอาไว้ก็คือ อยากเห็น มศว ปลอดแอลกฮอล์ บุหรี่ ผงชูรส สารกันบูดในอาหาร ยาชูกำลัง น้ำอัดลม หรือผักที่ใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งล้วนแล้วแต่ไร้ประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น

ศ.ดร.วิรุณ กล่าวว่า ในการดำเนินการนั้นคงต้องใช้วิธีการรณรงค์ให้ทุกคนในมหาวิทยาลัยร่วมกันทำในเรื่องเหล่านี้ อีกทั้งต้องใช้ระบบพัฒนาศักยภาพนิสิต ในกระบวนการเรียนการสอน อาจารย์ที่ปรึกษา ในส่วนของร้านค้า หรือร้านขายอาหารในมหาวิทยาลัยนั้นในเบื้องต้นต้องใช้วิธีเชิญชวน และต้องเขียนเป็นสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ร้านค้าทุกร้านในมหาวิทยาลัยได้รู้ในนโยบาย Green University

“เราอยากเห็นประชาคม มศว ทุกคน มีวิถีการดื่มน้ำเปล่าที่สะอาด หรือน้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร แทนการดื่มน้ำอัดลม ซึ่งเชื่อว่าคงต้องใช้เวลาและต้องค่อยๆ ทำ ทั้งนี้ต้องเรียกร้านค้าทุกร้านมาพูดคุยเพื่อฟังนโยบาย Green University ด้วย เราหวังไว้ว่า นิสิตที่มาอยู่ในบรรยากาศ Green University ที่กำลังจะดำเนินการในขณะนี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปเขาจะมีสำนึกในสิ่งเหล่านี้ การทำแนวคิด Green University ซึ่งถือเป็นการช่วยรณรงค์โลกร้อน โลกสีเขียวและมีสำนึกต่อสภาพแวดล้อมจะตามมา ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกๆ ฝ่ายในมหาวิทยาลัย ทั้งคณาจารย์และนักศึกษา และต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน” ศ.ดร.วิรุณ กล่าว

ที่มา – ข่าวสด

คัดลอก: “มศว”ตั้งเป้าเป็น”มหาวิทยาลัยสีเขียว” จากข่าวใน U

24
ต.ค.
07

ประกาศ: อบรมเชิงปฏฺิบัติการการวิจัยเชิงคุณภาพ

สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ขอเชิญเข้าร่วมการอบรม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์หัวข้อ “การวิจัยเชิงคุณภาพ” ระหว่าง 11 – 20 ธันวาคม 2550 (10 วัน) ***ด่วน รับ 30 ท่านเท่านั้น***

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
-มีความรู้เกี่ยวกับการวิจัยพื้นฐานทั่วไป
-มีความสนใจในการวิจัยเชิงคุณภาพ
-มีความตั้งใจจริงและมีสุขภาพดี
-มีความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดว์ โปรแกรม MS Words เป็นต้น

ระยะเวลาการอบรม
วันที่ 11-20 ธันวาคม 2550 รวม 10 วัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

สถานที่อบรมและปฏิบัติการภาคสนาม
ห้องเรียนรวมและห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สุขุมวิท 23 กรุงเทพมหานคร และปฏิบัติการภาคสนาม ณ บ้านบุ่งเข้ ต.หนองแสง อ.ปากพลี จ.นครนายก

ค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายในการอบรม
-ค่าลงทะเบียนท่านละ 8,700.- บาท (รวมค่าเครื่องดื่ม อาหารว่าง และค่าเอกสาร)
-ค่าใช้จ่ายภาคสนามระหว่างวันที่ 17-20 ธันวาคม 2550 ท่านละ 2,200.- บาท (รวมค่าเดินทาง ค่าที่พักและค่าอาหารวันละ 3 มื้อ ในช่วงภาคสนาม 4 วัน)
-รวมทั้งหมด 2 รายการเป็นเงิน 10,900 บาท
-ผู้เข้าอบรมมีสิทธิ์เบิกค่าลงทะเบียน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากต้นสังกัดได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง
-สำหรับข้าราชการสามารถเข้ารับการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา

วิธีรับสมัคร
θ สมัครด้วยตนเอง ณ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์
θ สมัครทางไปรษณีย์
θ ส่งธนาณัติ สั่งจ่าย “คุณสุพรรณา หนูรักษ์” ศรีนครินทรวิโรฒ 10117
ที่อยู่ : สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สุขุมวิท 23 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม.10110
หรือ
θ โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชื่อบัญชี “สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์” เลขที่บัญชี 167-2-03553-0 บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ พร้อมกับส่งสำเนาใบโอนเงินได้ที่ คุณสุพรรณนา หนูรักษ์ โทรสาร 02-262-0809

ระยะเวลาการรับสมัคร
สามารถสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ติดต่อสอบถามและสมัครได้ที่
คุณสุพรรณา หนูรักษ์
สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โทรศัพท์/โทรสาร 02-6641000, 02-6495000 ต่อ 7611, 7612, 02-6495182, 02-2620809 e-mail : sadhon@swu.ac.th

หมายเหตุ
-ผู้เข้ารับการอบรม 2 ท่าน ต่อคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง
-อาจมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางรายการโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
-หากผู้สมัครน้อยกว่า 15 คน สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ขอสงวนสิทธิ์ที่จะเลื่อนไปจัดการอบรมในครั้งต่อไปตามที่เห็นสมควร

หัวข้อในการอบรม
-มโนทัศน์การวิจัย
-ปรัชญาและหลักการพื้นฐานของการวิจัยเชิงคุณภาพ
-การออกแบบการวิจัยและการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง
-การเขียนข้อเสนอการวิจัย
-วิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ
-การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยมือ
-การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
-ความน่าเชื่อถือของข้อมูลเชิงคุณภาพ
-การเขียนรายงานการวิจัย
-การฝึกปฏิบัติ
-ฝึกเขียนข้อเสนอการวิจัย
-ฝึกปฏิบัติและเก็บข้อมูลภาคสนาม ณ บ้านบุ่งเข้ ต.หนองแสง อ.ปากพลี จังหวัดนครนายก
-ฝึกวิเคราะห์ข้อมูล
-ฝึกเขียนรายงานการวิจัยและการนำเสนอผลการวิจัย

คัดลอกจาก: ประกาศอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัย

24
ต.ค.
07

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

dsc00009.jpg dsc00008.jpg dsc00019.jpg dsc00007.jpg dsc00020.jpg dsc00006.jpg
ขอต้อนรับด้วยความยินดี ขอให้เราเป็นดั่งผู้ปลดเปลื้องความทุกข์กังวล ชาวเทา-แดงพร้อมเปิดรับทุกท่านที่ก้าวย่างมาเหยียบย่ำบนดินแดนนี้ ด้วยมิตรจิตมิตรใจ จากก้นบึ้งเบื้องลึก เชิญก้มพิสูจน์ได้ด้วยสายตา

23
ต.ค.
07

ประกาศ: เปิดอบรมภาษาอังกฤษสำหรับบุคคลทั่วไป

โดยภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์ เปิดอบรมภาษาอังกฤษ สำหรับบุคคลทั่วไป สนใจติดต่อ 02-260-1770-1 ต่อ 2651, 6220, 6221, 6215, 6219 ใครว่างเชิญสมัครได้ บางหลักสูตรมีสอบวัดระดับความรู้ สำหรับรอบเรียนที่กำลังจะถึง “ธันวาคม 2550– กุมภาพันธุ์ 2551” สอบวัดระดับ 29 พ.ย. เริ่ม 3 ธ.ค.

อำนวยการสอนโดย ผศ.ดร.ทิพา เทพอัครพงศ์
หลักสูตรที่เปิดสอน ราคา ระยะเวลา
* English Communication2,800 บ. 40 คาบ
* Grammar 1,800 บ. 20 คาบ
* Reading 1,800 บ. 20 คาบ
* Conversation 2,800 บ. 40 คาบ
* TOEIC 5,500 บ. 120 คาบ
* Writing 4,000 บ. 40 คาบ
* TOEFL 5,500 บ. 120 คาบ
* Business English 4,000 บ. 40 คาบ
* Basic Translation 4,000 บ. 40 คาบ
* Movie Script Translation 4,000 บ. 40 คาบ
(คาบละ 50 นาที)
สมัครด่วน รับจำนวนจำกัด ห้องละประมาณ 20 คน เข้าเรียนไม่ต่ำกว่า 80 % จะได้รับประกาศนียบัตร

วิธีการสมัคร
* สมัครด้วยตนเองในเวลาราชการ และสัปดาห์สุดท้ายก่อนเปิดเรียน ตั้งแต่ 9.00-18.00 น. ณ ห้อง 211, 212 และ 228 ห้อง214/1 วันเสาร์ และวันอาทิตย์ที่มิใช่วันหยุด ราชการ ตั้งแต่ 9.00 -14.00 น. ณ ห้อง 212 และ 228 ตึกคณะมนุษยศาสตร์
* สมัครทางไปรษณีย์ หรือ Fax โดยกรอกแบบฟอร์มใบสมัครพร้อมค่าลงทะเบียนเรียน มายังเบอร์ 0-2258-4118 ถึงคุณอาคม ธูปสุวรรณ หรือ 02-260-1661 ต่อ 6218 คุณอุบลรัตน์ คมจิตร

รายละเอียด: ประกาศทางการของมหาวิทยาลัย

21
ต.ค.
07

อธิการบดี มศว: ศิลปะต้องระวังการตีความ ศิลปินอย่าเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง

ภาพเขียนภิกษุสันดานกาที่กำลังโด่งดัง ขณะนี้ศาลรับฟ้องเรียบร้อยแล้ว รอผลพิพากษา เพื่อสรุปว่าศิลปินไทยจะวาดจะเขียนอะไรได้บ้าง ในฐานะอธิการบดี มศว เป็นครูสอนศิลปิน ได้ให้ความเห็นต่อสาธารณะ:

ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะโดยเฉพาะผลงานด้านทัศนศิลป์ว่า การสร้างงานที่บอกความหมายด้วยภาพสามารถตีความได้กว้างและหลากหลาย ซึ่งบางครั้งการตีความก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวกับประเด็นของชาติ ศาสนา และการเมือง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะมีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของคน บางครั้งเจตนารมณ์ของผู้ทำงานศิลปะและผู้ตีความอาจจะมองคนละเรื่องกันได้ ดังนั้นแม้อาชีพศิลปินจะไม่มีการกำหนดจรรยาบรรณทางวิชาชีพไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่สิ่งที่คนทำงานศิลปะจำเป็นต้องมีก็คือสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคม

ศ.ดร.วิรุณ กล่าวต่อไปว่า งานศิลปะต้องใช้หลักคิดแห่งการตีความ โดยจะสร้างความคลุมเครือ ให้คนตีความได้หลากหลาย ดังนั้นศิลปินต้องระวังให้มาก เพราะเมื่อมีการตีความได้หลากหลายก็ต้องมีทั้งแง่บวก แง่ลบ มีความคิดที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สถาบันการศึกษาจึงต้องสอนหลักคิดเหล่านี้ให้นิสิต นักศึกษาที่เรียนศิลปะด้วย

“ผมไม่อยากให้ศิลปินเอาวิธีการคิดของตัวเองเป็นตัวตั้งมากเกินไป หากใช้ความคิดของตัวเองเป็นตัวตั้งมากและใช้ภาพเป็นสื่อในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมย่อมมีโอกาสไปกระทบคนอื่น ๆ ได้เสมอ แม้ว่าการแสดงงานศิลปะที่มีประเด็นและแสดงภาพที่ออกมาอย่างชัดเจนจะเป็นแนวทางของการแสดงงานศิลปะเพื่อชีวิตที่หวังจะนำศิลปะไปสร้างสิ่งถูกต้องดีงาม สร้างจริยธรรม ศีลธรรม แต่ก็ต้องระวังสิ่งที่แสดงออกไป นั่นก็คือไปกระทบความรู้สึกและความศรัทธา” ศ.ดร.วิรุณ กล่าว.

คัดลอกจาก พระไทยดอทเน็ต

จากความเห็นของครูอาจารย์ศิลปะระดับอธิการฯ น่าที่พระภิกษุและมวลชนฝ่ายคัดค้านควรเบิกความต่อศาล ให้ ดร.วิรุณ เป็นพยานในคดีนี้เสียเลย เพราะอีกฟากก็เป็นศิลปะจากศิลปากร ยกระดับให้วิวาทะเรื่องนี้ เป็นดีเบทวิชาการด้านศิลปะ ดีกว่าจะปล่อยเป็นแค่การชนะคะคานทางกฎหมาย

ประสานมิตร ปะทะ ศิลปากร มันหยด…

11
ต.ค.
07

หายไปไหนแล้ว

เปิดใช้งานแล้ว สำหรับบูธเก็บตั๋วค่าเข้ามหาวิทยาลัย… มิใช่ซิ เป็นอาคารของแผนกพีอาร์ตะหาก น่าอิจฉาเสียจริง มีตึกทำงานเป็นของตัวเอง แต่ไม่เป็นส่วนตัว 🙂 ก็กรุกระจกใส่พราวรอบด้าน น่าสนใจว่าในประสานมิตรชมชอบการกรุกระจกเป็นชีวิตจิตใจ (ไว้วันหลังจะมาขยายความเพิ่ม) 

ที่ต้องกลับมาเสนอประเด็นบูธนี้อีกครั้ง เพราะสืบเนื่องจากครั้งก่อนได้ยกเรื่องการปลูกสร้างอาคารใต้สายไฟสามเส้น ไม่ว่ามันจะแรงสูงหรือแรงต่ำก็ตามที แต่มาวันนี้ เหลือบสายตาขึ้นมองสายไฟบนหลังคาทรงโค้งสไตล์สถานีรถไฟใต้ดินหรือยัง… สังเกตเห็นอะไรบ้างไหน… ไม่ต้องเป็นเซียนเกมส์จับผิดภาพตามตู้เกมส์หยอดเหรียญก็น่าจะสะดุดตา ว่าเกิดอะไรขึ้น

อ่านต่อ ‘หายไปไหนแล้ว’

04
ต.ค.
07

จดแต้มความดี พลีเพื่อปริญญา

ผ่านพ้นไปด้วยดี สำหรับการรับบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเพื่อนนักศึกษา ข่าวว่าคนล้นหลาม และมี “คนนอก” มาร่วมด้วย เพราะมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนหลายแขนง ทั้งทีวีและวิทยุ แม้แต่ในอินเตอร์เน็ทก็มีคนใช้ชื่อ-นามสกุลของน้องเสิร์ชหาข้อมูล (คนที่เข้ามาอ่านบล๊อกนี้คนหนึ่ง ก็มาทางเสิร์ช)

บางคนที่ไม่สามารถให้เลือดได้ ก็ช่วยบริจาคเป็นเงินแทน น่าชื่นใจในน้ำใจของคนที่ไม่รู้จักกัน ไม่ใช่ธุระหน้าที่ รางวัลก็ไม่มี แถมต้องจ่ายต้องเสียของตัวเองอีก ทำให้สะท้อนใจถึงตัวตั้งตัวตีอย่าง มศว ประสานมิตร เอง กลับทำเรื่องที่ไม่เข้าท่าน่าละอาย

สองบรรทัดสุดท้ายจากโปสเตอร์รณรงค์เรื่องนี้ ใช้ฟ้อนท์ขนาดใหญ่สุด ใหญ่กว่าเนื้อหาทั้งหมด รวมทั้งชื่อและนามสกุลเธอด้วย แสดงว่าคนทำมุ่งเน้นสื่อสารเนื้อความสองบรรทัดนี้เป็นหลัก ส่วนอื่นเป็นเรื่องรอง

อ่านแล้วรู้สึกอย่างไร… สารภาพว่าหะแรก นึกถึงข่าวหรือเรื่องเล่าฮิตของสาวสมัยนี้ ที่นิยม “จดแต้ม” สะสมคะแนนจากการล่าผู้ชาย …ไม่รู้ว่าโปสเตอร์ชิ้นนี้ “ผู้ใหญ่”​ หรือ “เด็ก” ผลิตขึ้น เพราะว่ามันสะท้อนสำนึกบางอย่าง “อีหรอบ” เดียวกันเลย

อ่านต่อ ‘จดแต้มความดี พลีเพื่อปริญญา’

01
ต.ค.
07

มรณะประกาศ

ขณะเดินทะลุใต้ถุนตึกไข่ตาว โชคดีที่ตาไวและกล้องพร้อม เก็บภาพข้างตู้เอทีเอ็มกรุงไทยไว้เป็นหลักฐาน ยืนยันว่าอย่างน้อยในประสานมิตร ยังมี “คุณ” คนหนึ่ง ที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ส่งเสียงของคุณให้ประจักษ์ต่อสาธารณะ ว่าไม่เอาด้วยกับความเหลวใหลที่เกิดขึ้น

27
ก.ย.
07

ร่วมใจกันเพื่อเพื่อน

จันทร์ 1 ตุลาคม ศกนี้ ช่วยบริจาคเลือดเพื่อเพื่อนของเราด้วย ที่ใต้คณะศิลปกรรม กรุณาแต่งกายให้เรียบร้อยด้วย อย่าใส่เสื้อยืดหรือสวมรองเท้าแตะเด็ดขาด เพราะว่ากันว่า คุณยามคุมเข้มห้ามเด็ดขาด จะไม่ยอมปล่อยให้เข้าตึกได้เลย

รายละเอียดของเพื่อนคนนี้จากวารสารประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย:

จากโปสเตอร์หน้าห้องสมุด:

จากแผ่นปลิวที่ไหนสักแห่ง:

รายละเอียดจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับตัวเธอและอาการ:

นางสาวฐิติพร ธนะสุนทรกูร
นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกออกแบบแฟชั่น

ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เนื่องจากป่วยเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียตั้งแต่แรกเกิด และต่อมาได้ตรวจพบอีกโรคหนึ่ง คือ pyruvate kinase deficency (ตัวย่อยเม็ดเลือดผิดปกติ) ซึ่งในโรคที่ 2 นี้ ขณะที่ตรวจพบเพิ่งเป็นรายที่ 3 ของประเทศไทย และยังไม่มีทางรักษา จึงได้รักษาแบบโรคธาลัสซีเมียไปก่อน โดยการรักษาจะต้องได้รับเลือดเดือนละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 2-3 ถุง ค่าเลือดถุงละประมาณ 1,200 บาท รวมกับค่าเตีย ค่าเจาะเลือด ค่าบริการทางการแพทย์ ทั้งหมดประมาณ 4,000 บาท นอกจากนี้ยังมียาขับธาติเหล็กที่ต้องฉีดทุกวัน วันละ 3-4 ขวด ค่ายาขวดละ 200 บาท ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด เพราะเบิกไม่ได้ จึงได้จ่ายเงินรักษากับทางศิริรราชมาโดยตลอด และให้ทาง รพ.ศิริราชเข้าไปรับเลือดที่ที่ทำงานของมารดา เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเลือด จนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มารดาลาออกจากงานเนื่องจากสุขภาพไม่ดี จึงไม่มีที่ให้ทางโรงพยาบาลไปรับเลือดอีก จนเมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งจะได้สิทธิ 30 บาท จากโรงพยาบาลกลัวยน้ำไท ซึ่งทางรพ.ศิริราชได้ทำเรื่องมาขอให้ทางรพ.กล้วยน้ำไทส่งตัวไปให้ จึงได้รับการรักษาโดยใช้สิทธิ 30 บาท ได้

และในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ (เวลา 08.00 – 16.00 น.) ทาง รพ.ศิริราช จะนำรถมาขอรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือนางสาวฐิติพร ที่บริเวณ โถงชั้น 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยรับบริจาคเลือดได้ทุกกรุ๊ป เพราะสามารถนำไปแลกเป็นกรุ๊ปโอ (กรุ๊ปเลือดของน้อง)กับสภากาชาดได้

ไม่ว่าคุณจะรู้จักเธอในฐานะ “เพื่อน” หรือไม่ก็ตาม แต่เธอก็เป็น “เพื่อนมนุษย์” ของเราทุกคน

tags: บริจาคโลหิต | เพื่อนมนุษย์

25
ก.ย.
07

แค่เอาราก ไปฝากไว้

มาแล้ว… คำชี้แจงการตัด (เอ๊ะ… มิใช่ซิ ขุดแล้วเอาไปเลี้ยงที่อื่น) ต้นไม้รอบสนามฟุตบอล เพราะกีดขวางการสร้างลานจอดรถใต้ดิน ปรากฎในหน้าเกือบท้ายเล่มของ “บอกเล่าเก้าสิบ” ฉบับ 10 กันยายน 2550 คงอ่านรายละเอียดตรงกันว่า ไม่ได้ตัดนะ… นี่คือรากยุคโพสโมเดิร์น ไม่ต้องยึดกับที่ตายตัว ย้ายไปย้ายมาได้ เอาไปปลูํกที่โน้นสามสี่ปี แล้วก็กระทำการแบบเดียวกันนี่แหละ ขุดล้อมตัดกิ่งก้านเป็นคำรบสอง แล้วยกกลับมาใหม่

น่าสนใจว่า หากชี้แจงอย่างนี้ก็น่าอนุมานว่า ตำแหน่งต่าง ๆ ของต้นไม้สมควรจะอยู่ตำแหน่งเดิม? แต่เท่าที่เดินดูไม่เห็นมีการมาร์คเครื่องหมายใดที่ลำต้นทั้งสิ้น อ้าว… อย่างนี้ขนไปที่โน้น 30 ต้น แต่ขนกลับมาแค่ 10 ต้น ก็ถือว่าทำถูกต้องตรงตามคำชี้แจงนี้แล้ว

ไม่กลัวว่ามันจะล้มหายตายจากไปบ้างหรือ ถ้าเป็นจริง คงมีการตั้งงบซื้อจากจตุจักรเอาปักแทน แบบสร้างสนามกอล์ฟ มันแต่รอเลี้ยงใหม่ให้โตทำไมกัน เสียเวลา… ถึงตอนนั้นก็ไม่มีใครจับได้ไล่ทัน 🙂

สังเกตให้ดีว่า เป็นเพียงคำชี้แจงจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นคำชี้แจง “ทางตรง” จากปากผู้บริหาร ไม่มีลักษณะ “ทางการ” อ้างอิงมติที่ประชุมผู้บริหาร ว่ามีขั้นตอนหรือจะจัดการอย่างไร กับไอ้พวกต้นไม้ที่เกะกะขวางทางการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ หรือที่ว่าเมื่อสร้างลานจอดรถเสร็จแล้ว ผิวหน้าด้านบนจะเป็นสนามหญ้าเช่นเดิม ก็ยังสงสัยว่า “สนามหญ้า” มันมีหลายแบบ หญ้าจริงหรือหญ้าเทียม? ฉะนั้น คำชี้แจงที่ปรากฎจึงไม่ผูกมัดผู้บริหารแต่อย่างใด

ประสบการณ์ทางการเมือง สอนให้เราตระหนักว่า อย่าไว้ใจคนมีอำนาจเด็ดขาด

15
ก.ย.
07

เล่นกับไฟ

บริเวณปากประตูใหญ่เข้า-ออกประสานมิตร เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพครั้งใหญ่ พื้นที่บริเวณนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางยาวขนานกำแพงสถาบันกับถนน ส่วนหนึ่งสร้างเป็นพลับพลาปูนตั้งพระพุทธรูป ส่วนที่เหลือเป็นลานโล่งปูอิฐบ้าง เป็นพื้นหญ้าบ้าง ตามขอบรูปสี้เหลี่ยมปลูกต้นไม้รายรอบทั้งสี่ด้าน สร้างสเปซใช้งานตรงกลาง ทุกครั้งที่เดินผ่านยังมองอยู่ว่า เป็นสวนที่ดูร่มรื่นไม่น้อย แม้จะอยู่ติดถนนก็ตาม น่าจะจัดงานอีเว้นท์เล็ก ๆ แบบปัญญาชนได้ เช่น เปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของอาจารย์สักคน หรืออาจตั้งซุ้มขายกาแฟ พร้อมจัดโต๊ะเก้าอี้ให้เป็นที่ทำงานของนักศึกษา แต่สุดท้ายก็ได้แค่ฝัน เพราะปัจจุบันได้กลายเป็น บูธขายตั๋ว ไปแล้ว (บางคนคิดว่ารถใต้ดินจะมาจอดตรงนี้ ไม่รู้ว่าสายสีอะไรเนอะ) 🙂

ทำให้นึกเปรียบเทียบปากทางเข้าสยามสแกวร์เร้ยยย… ถ้านำไฟจราจรและไม้กั้นรถมาตั้งไว้ ก็จะกลายเป็นบูธสำหรับเกิดเงินค่าธรรมเนียมจอดรถ อย่างเป็นระบบระเบียบ อีกไม่นานประสานมิตรจะสามารถรองรับรถยนต์ส่วนบุคคลได้ถึง 800 คันทีเดียว ถือเป็นการลงทุนคุ้มค่าเพื่อพัฒนาการศึกษาระดับชาติทีเดียว ไม่ต่างจากวัดในกรุงเทพฯ เวลานี้ ที่ไล่ที่รื้อสลัมเอาที่ดินวัดคืน มาสร้างที่จอดรถเพื่อหารายได้บำรุงศาสนสถาน

แต่ที่น่าสงสัย ตรงเบื้องบนหลังคาอลูมินั่มทีเห็นเป็นสายสีเหลืองวิ่งผ่านสามเส้น นั่นคือสายไฟฟ้าแรงสูง ถึงแม้จะเป็นสายแบบมีฉนวนหุ้ม แต่ทางมหาวิทยาลัยยังเอาฉนวนหุ้มทับอีกชั้น ส่วนที่เป็นสีเหลืองนั่นแล…

ถามหน่อยว่า ถ้าคุณคิดจะสร้างบ้านจะเลือกทำเลใต้สายไฟฟ้าแรงสูงไหม? ลองนึกว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันสายไฟเกิดขาด ต้องร่วงลงสู่พื้นตามแรงดึงดูดของโลก… ยิ่งช่วงนี้ไว้ใจสภาพธรรมชาติไม่ค่อยได้เสียด้วย เดียวก็แผ่นดินไหว เดียวต้องระวังนั้นนี่ เอาแค่ฝนตกหนักฟ้าคะนองแลบแปร๊บ ไม่ถึงกับต้องขาดหรอกแค่หย่อนลงมาก็หนาวแล้ว เพ่งให้ดีจะตกใจว่าหลังคาบูธน่าจะห่างจากสายไฟไม่หย่อนไม่เกินหนึ่งฟุตสักเท่าไหร่

ความพยายามอันน่าชื่นชมของมหา’ลัย ที่นำฉนวนไปหุ้มเพื่อความปลอดภัยน่าชื่นชมยิ่ง แต่กลับทำให้ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยไปพร้อมกันด้วย ฉนวนที่มีอยู่เดิมไม่น่าจะปลอดภัยต้องเสริมเพิ่ม แต่ต้องมีคำถามประสาคนไม่รู้ ไม่ได้เกิดมาเป็นวิศวกรว่า แล้วต้องหุุ้มกี่ชั้นถึงปลอดภัยร้อยเปอร์เซ้็นต์? หุ้มแค่สีเหลืองตามที่เห็นปลอดภัยเพียงพอแล้วหรือ?

แล้วอาจคิดอุตริไปไหลว่า สายไฟนี้เป็นของใคร? มีกฎหมายคุ้มครองไหม? การเอาอุปกรณ์อื่นติดตั้งเพิ่มคงต้องขออนุญาตเจ้าของเรียบร้อยแล้วใช่ไหม? อย่าบอกนะว่าสถาบันเป็นเจ้าของสายไฟแรงสูงทั้งสามเส้นนี้…

ด้วยสามัญสำนึกแห่งความรักตัวกลัวตายย่อมไม่มีใครอยากปลูกบ้านใต้สายไฟฟ้าแรงสูง จึงน่าจะมีกระบวนการแปรสัญชาติญาณนี้เป็นกฎเกณฑ์เพื่อกันภัยไว้ก่อน ไม่ว่าจะในระดับกฎหมายหรือระดับเทศบัญญัติ

จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ เรียนโรงเรียนวัดครูมักสอนและยังมีโปสเตอร์แปะประกาศว่า อย่าชักว่าวใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง แต่ตรงนี้ไม่ใช่เด็กชักว่าว เป็นผู้ใหญ่สร้างบ้านทั้งหลัง และต้องมีคนเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ข้างในนั้นด้วย

tags: ไฟฟ้าแรงสูง | ประสานมิตร

09
ก.ย.
07

ลิฟต์ออฟมายไลฟ์

ภาพชินตาของมวลชนประสามิตรผู้พึ่งพาขนส่งมวลชน ทั้งลอยฟ้าและใต้ดิน ณ จุดบรรจบสถานีสุขุมวิท-อโศก ปากทางซอยคาวบอย ลิฟต์ตัวนี้ไม่เคยเห็นเปิดใช้บริการแม้แต่ครั้งเดียว ไม่รู้ว่าเสีย ยังไม่ได้ซ่อม หรือแค่เอาประตูมาแปะหลอกชาวบ้าน แต่เจ้าหมาตัวนี้จับจองพื้นที่เป็นเรือนนอนแสนสบาย

tags: รถไฟฟ้า | รถใต้ดิน | หมาข้างถนน

08
ก.ย.
07

พรมลายดอกบนสนามบอล

ภาพทั้งหมดเพิ่งบันทึกช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา (ราวเมษายน) ต้นไม้รอบสนามฟุตบอลงามตาอย่าบอกใครเชียว เมื่อนั้นยังไม่ทราบถึงเมกะโปรเจ็กต์ โชคดีจริงที่วันนั้นพกกล้องติดกระเป๋าไปด้วย เลยกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ไปเสียแล้ว

นี่หละเสน่ห์หน้าร้อน ทั้งต้นชมพูพันทิพย์และต้นคูณแข่งกันบาน โชว์สีสด ลมพัดกราวพาดอกพรูปูเป็นพรม แซมใบหญ้าขอบสนามฟุตบอล ใครได้เห็นจังหวะดอกชมพูพันทิพย์ร่วงเป็นสายงดงาม ประหนึ่งม่านน้ำตก เห็นสาวกลุ่มหนึ่งไปยืนใต้ต้น อาศัยม่านดอกชมพูเป็นฉากถ่ายรูป ถ่ายแล้วถ่ายอีก เจ้าดอกไม้ก็ยังไหลไม่รู้จักหยุด เหมือนไม่กลัวว่าจะหมดต้น

ใครไม่เคยเห็น… กำลังอิจฉาคนเคยเห็นอยู่ใช่ไหม… 🙂

 

08
ก.ย.
07

มารยาท “ประสามิตร”​ ในหอสมุด “ประสานมิตร”

บรรณารักษ์ท่านหนึ่งเปิดประเด็นว่าด้วยมารยาทในการใช้ห้องสมุดไว้น่าสนใจ เชิญคลิ๊ก เชื้อเชิญให้เราต้องหันกลับมาดูตัวเอง ในหอสมุดกลางประสานมิตร มีหลายสิ่งที่น่าหยิบยกขึ้นอภิปรายท้วงติง เพราะสิ่งที่เข้าใจว่า “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน” อาจจะใช้ได้แต่เฉพาะหอสมุดที่ประสานมิตรเท่านั้น หากเกิดขึ้นที่อื่นเขาอาจเชิญพวกคุณ… ออก…

(และขอให้เข้าใจว่า สิ่งที่กำลังจะบรรยายต่อไปนี้ เป็น subjective ของผู้เขียนเพียงผู้เดียว ไม่อาจอ้างเป็นความถูกต้องได้ และพร้อมจะรับฟังความเห็นโต้แย้งในทุกกรณี)

จากประสบการณ์ในหอสมุดของมหาวิิทยาลัยใหญ่ ๆ เชื่อว่า ไม่มีที่ไหนจะหนวกหูเท่าที่ประสานมิตร ลองซาวด์เช็คดูแล้ว ปรากฎว่าไม่พบความต่างเชิงสาระระหว่างหอสมุดกับเบเกอรี่ใต้ตึกไข่ดาว แค่ปรับวอลลุ่มให้ดังสักนิด นั่นหละ…​ เบเกอรี่ดี ๆ นี่เอง แม้จะค่อยกว่า แต่อย่าลืมว่าในห้องสมุดคือพื้นที่ที่เรียกร้องความเงียบเป็นพิเศษ

คุณจะพบเห็นอะไรบ้างในห้องสมุดประสานมิตร

งานกลุ่ม – นักศึกษาไม่ว่าดีกรีไหนไม่เกรงใจที่จะใช้เป็นที่ทำงานกลุ่ม นึกออกใช่ไหนว่างานกลุ่มเขาทำกันอย่างไร และใช้ระดับเสียงแค่ไหน สักวันหนึ่ง โน้ตบุ๊คคงไม่พอกำลัง อาจมีใครยกพริ้นเตอร์ขึ้นไปปริ้นงานกันจะจะ

ติวหนังสือ – แน่นอนว่าติวกับเป็นหมู่คณะ แล้วบรรยากาศการติวหนังสือระหว่างหมู่สหาย เป็นกิจกรรมบันเทิงแค่ไหน แล้วก็มีบ้างที่นักศึกษาป.ตรี รับจ๊อบสอนหนังสือเด็กสาธิตบ้าง ก็พึ่งพาห้องสมุดเป็นห้องเรียน

จริงอยู่ว่ามีห้องทำงานกลุ่มเตรียมไว้เฉพาะ แต่ก็น้อยนิดเดียว แถมยังกักเก็บเสียงหัวเราะเฮฮาเอาไว้ไม่อยู่เสียด้วย ทำให้บรรดาหมู่ชนผู้ใช้เสียงส่วนใหญ่กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด เด็กป.ตรี ดีหน่อย พอข้าพเจ้าถลึงตาใส่ก็รู้สึกสำนึกตัว แต่เจ้าพวกป.โท จำพวกเอ็มบีเอเนี่ยะหละมั้ง ไม่ยักรู้สึกรู้สา แน่นอนว่ากิจกรรมทั้งสองเกี่ยวกับการเรียนและความรู้ ทว่า ห้องสมุดมีเพื่อค้นคว้าหาความรู้เฉพาะตัว เป็นสถานที่ที่สมควรเคารพความเป็นปัจเจกซึ่งกันและกัน

ห้องสมุดมีวินัยไม่ต่างจากคุกหรือค่ายทหาร ต่างแต่ว่าไม่มีใครบังคับให้คุณต้องเข้าห้องสมุด เป็นเสรีภาพของบุคคลที่จะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น ย่อมต้องเคารพระเบียบวินัย ซึ่งเป็นระเบียบวินัยที่อ้างอิงจากปรัชญาของห้องสมุดเอง

ทราบมาว่าที่หอสมุดกลางของจุฬาฯ ถ้าบรรณารักษ์เห็นนักศึกษาคนไหนใช้ห้องสมุดเป็นที่สอนหนังสือเด็กนักเรียน จะถูกเชิญออกทันที เพราะเขาสงวนที่ไว้สำหรับคนที่ต้องการศึกษาค้นคว้าจริง ๆ รู้จักหารายได้พิเศษไม่ต้องพึ่งเงินบุพการีเป็นเรื่องน่าชมเชย แต่สมควรทำที่อื่นไม่ใช่ในห้องสมุดสาธารณะ

ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกวันนี้ ห้องสมุดทุกแห่งโอนอ่อนตามยุคสมัย จึงไม่แปลกที่จะกลายเป็นโชว์รูมโน้ตบุ๊ค ใครจะหาปลั๊กไฟเสียบ มีบริการแน่นอนในห้องสมุด ไม่แปลกหรอกกับเสียงเปิด-ปิดเครื่องหรือวินโดว์ แต่ที่ข้าพเจ้าพบครั้งหนึ่ง คนคนนั้นเกิดอะไรไม่ทราบ เครื่องของเขาส่งเสียง “เคล้ง” “เคล้ง” “เคล้ง” หลายสิบรอบ กินเวลาร่วมชั่วโมง คงคิดว่าไอ้เสียงเตือน error ของวินโดว์มันไพเราะเสียเต็มประดา พระเจ้าช่วย… ช่วยปิดเสียงมันหน่อยได้ไหมว่ะ… โชคดีที่ไม่ได้เป็นไมเกรน เลยได้แต่หอบข้าวของย้ายที่หนีไปที่อื่น แต่ถ้าเกิดเป็นขึ้นมาจริง… คงมีเรื่อง…

แต่จะว่าไปแล้ว การกล่าวหาแต่นักศึกษาฝ่ายเดียวก็ดูจะไม่เป็นธรรมนัก ทำไมกิจกรรมอันไม่สมควรถึงไปอยู่ในห้องสมุดได้?

ก็เพราะว่าไม่มีที่ทางสำหรับเรื่องพวกนี้ ไม่รู้ว่ามหา’ลัยนี้มันเป็นบ้าอะไรกัน ตกเย็นเสร็จสิ้นคาบเรียนก็ปิดห้องปิดตึกลั่นกุญแจ นักศึกษาจะไปหาโต๊ะหาเก้าอี้ที่ไหน มหา’ลัยนี้ลงทุนก่อสร้างมากมาย แต่แค่จัดหาโต๊ะเก้าอี้ที่ทำงาน… ขอโทษเหอะ สิบกว่าปีที่ผ่านมามีเท่าไหร่ก็เท่านั้น แถมไอ้ที่มีอยู่น้อยนิดก็มืดสนิทไม่มีไฟฟ้า

ที่น่าเวทนาอย่างเห็นได้ชัดก็พวกเด็กศิลปกรรม มีที่ทำงานโก้หรูเป็นพลาซ่าทีเดียว แต่โทษเหอะ… ตกเย็นก็ปิดประตูลงกลอน นักเรียนศิลปะต้องการพื้นที่ทำงานมากกว่าสาขาอื่นไม่ใช่หรือ… กลับต้องเร่ร่อนหอบงานมานั่งทำหน้าห้องสมุดที่เข้าใจดีเปิดไฟสว่าง แต่ก็ไม่พอ เห็นเด็กหลายคนก็หอบกระดานรองเขียน กระดาษ สี มานั่งระบาย นั่งตัดปะ กันเป็นกลุ่มในห้องสมุด กลัวว่าคณะตัวเองจะสกปรก เลยปล่อยให้เด็กมาทำสกปรกข้างนอก ฉลาดจัง…

พอตกเย็น ก็เหมือนกับว่าย่อมหาวิทยาลัยทั้งหมดมายัดไส่ไว้ในตึกหกชั้น แล้วมันจะไม่หนวกหูได้อย่างไรกัน

ข้าพเจ้าคิดว่าหอสมุดประสานมิตรรับภาระหน้าที่หนักเกินความจำเป็น ฟังก์ชั่นอันเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานตอบสนองวิถีวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยก้นซอยแห่งนี้

tags: ห้องสมุด | มารยาท | การใช้ห้องสมุด

05
ก.ย.
07

บอกลาด้วยภาพและคำ

อำลาต้นไม้รอบสนามฟุตบอลประสานมิตร ด้วยภาพมุมกว้างฝีมือคุณ Siripen เจ้าของบลอก บนโลกใบหนึ่ง มันก็ยังมีโลกอีกใบ ยังมีภาพประทับใจในอัลบัมของเธออีกหลายภาพ เชิญชมได้ ขอบอกว่าฝีมือไม่เบาเลยทีเดียว เข้าใจเฟ้นหามุมมองมาถ่ายทอด เอาดีทางงานภาพแลนด์สเคปได้สบาย

แต่ความประทับใจหาใช่แค่นั้น คำอำลาอาลัยของเธอสะท้อนอารมณ์รู้สึก จับใจไม่แพ้ภาพ ขออนุญาตคัดมาประกาศ ณ ที่นี้:

ถ่ายไว้เมื่อปี ’49 มุมสวยๆ ที่เคยเอาไว้พักผ่อนหย่อนใจ แต่ตอนนี้ต้นไม้สวยๆ บรรยากาศดีๆ ไม่มีอีกแล้ว เพราะมันโดนตัดเคลื่อนย้ายไปที่อื่นแล้ว น่าเสียดายจัง มีต้นไม้เยอะๆ มันก็ดีอยู่เเล้วนะ แต่เพื่อความเจริญทางวัตถุและสิ่งอำนวยความสะดวก จึงต้องเสียต้นไม้ใจดีที่เราเคยอาศัยร่มเงาของเค้าไป จริงๆ แล้วพื้นที่ใกล้สนามบอลเป็นที่พักผ่อนไม่เฉพาะคนใน มศว เท่านั้น ยังมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในละเเวกนี้เข้ามานั่งเล่นเป็นครอบครัว มีน้องหมาน่ารักๆ มาออกกำลังกาย ผู้คนมากมายที่รักสุขภาพวิ่งออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ โดยไม่ต้องเสียเงินให้พวกกิจการฟิตเน็ต (เราเลยต้องไปเสียตังค์เข้าฟิตเนสเลย…แป๋ววว..) คิดถึงบรรยากาศดีๆ เดิมๆ จังเห็นเเล้วเราก็พลอยอดหดหู่ใจไม่ได้…. ต้นไม้กูอยู่ไซ !!!….(ไม่ใช่ช้างกูอยู่ไหนน๊ะ..555)

บางตอนที่ Siripen บันทึก ทำให้ฉุกย้อนไปกว่า 15 ปี นับแต่เรายังละอ่อนปีหนึ่ง เห็นคุณน้าหญิงอินเดียสี่ซ้าห้าคน ไม่ต้องสวมชุดวอร์มเสื้อกีฬาหรู พวกเธอสวมห่มชุดประจำชาติสาหรี่ (ใช่ป่าวว่ะ) สวมรองเท้าผ้าใบทะมัดทแมง เดินออกกำลังรอบสนามฟุตบอล เหยียบย่ำพื้นดินแผ่นหญ้าวันละเป็นสิบเป็นร้อยรอบ สิบกว่าปีผ่านไป หน้าตาพวกเธอยังพิมพ์เดิมไม่เปลี่ยน ไม่รู้สึกว่าแก่วัยขึ้นแต่อย่างใด มาวันนี้ กลับต้องเดินย่ำบนพื้นปูน

ใช่แล้ว “ความเจริญทางวัตถุและสิ่งอำนวยความสะดวก”

ไม่มีอีกแล้ว… ไม่มี… 😦

04
ก.ย.
07

โหยหาธรรมชาติ

ในขณะที่คนงานกำลังริดใบตัดกิ่ง ต้นไม้รอบสนามฟุตบอลประสานมิตร แล้วขุดยกไปที่อื่น เพื่อเปิดงานก่อสร้างลานจอดรถใต้ดินอันอัครฐาน หรือพูดให้ง่ายว่า “ตัดทิ้ง” จากที่ที่มันเคยยืนต้นอยู่ชั่วชีวิต น้องนักศึกษากลุ่มหนึ่ง คงสังกัดชุมนุมอนุรักษ์ฯ ของมหาวิทยาลัย กำลังจัดงานรำลึกถึงคุณสืบ นาคะเสถียร อย่างขมักเขม้น ณ ลานหน้าหอสมุด แบบว่า… คงเป็นห่วงโลกร้อน

เราโหยหาบางสิ่งที่ไกลตัวเกินไปหรือเปล่า? หันมาหมกหมุ่นกับสิ่งรอบตัวบ้างจะดีกว่าไหม?

…จบข่าว และ …จบเห่

tags: สืบ นาคะเสถียร | ชมรมอนุรักษ์ | กิจกรรมนักศึกษา

01
ก.ย.
07

ไม่มีอีกแล้ว ไม่มี…

ค้นเจอโดยบังเอิญ… ทำให้เห็นสายตาของคนนอกที่มอง มศว.ประสานมิตร ว่างดงามแค่ไหน

เขาตั้งชื่อสุดแสนจะบาดใจในยามนี้ว่า “วิวสวย ๆ ที่ มศว. ประสานมิตร” 😦 เชิญคลิ๊กลิงก์ตามไปดูได้

http://www.mdcu47.net/question.asp?gid=382

เข้าใจว่าภาพชุดนี้ถูกบันทึกตอนหน้าร้อนพอดี ต้นชมพูพันทิพย์ถึงได้แตกช่อสะพรั่ง

หน้าร้อนแม้จะร้อน แต่ลมร้อนก็ช่วยพัดกิ่งก้านให้ไกวไสว ดอกไม้สีสันจัดจ้านโยกส่ายยั่วตามนุษย์
จากนั้นก็ร่วงพรูปูเป็นพรมดอกไม้บนพื้นดิน รวมทั้งพื้นสนามหญ้าแห่งประสานมิตรด้วย

แต่ต่อไปนี้ ไม่มีอีกแล้ว ไม่มี…

28
ส.ค.
07

โล่ง โปร่ง ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย

อัพเดทสถานการณ์โค่นต้นไม้รอบสนามฟุตบอล ประสานมิตร อย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้ไม่ขอกล่าวมากมาย ขอเน้นภาพถ่ายจากมุมสูงและกว้าง บอกลามิตรเก่าแก่ที่ยืนคู่แผ่นดินแห่งนี้

“ฉันมีเวลาที่ยังเหลือสักเท่าไหร่
บอกได้ไหม ให้ฉันเตรียมใจ
ฉันมีใจเธอ ที่ยังเหลือสักเท่าไหร่
จะเตรียมหัวใจ เมื่อไม่มีเธอ

ฉันมีใจเธอ ที่ยังเหลือสักเท่าไหร่
จะเตรียมหัวใจ เมื่อไม่มีเธอ”

ถ้าต้นไม้ร้องเพลงได้คงร้องเพลงนี้ ว่าแต่จะเรียกว่า ร้องเพลง… หรือร้องไห้…

เป็นทัศนียภาพที่โปร่งและเบาสบายสายตา ต้นไม้เติบโตโดยอิสระ “ฟรีฟอร์ม” แตกแขนงไร้มาตร ขณะที่ตึกแวดล้อมสร้างโดยอิง “เรขาคณิต” เป็นเหลี่ยมคมประชิดมุมต่อฉาก การจำกัดสิ่งที่ไร้ระเบียบ ไร้การควบคุม ย่อมนำมาซึ่งระเบียบ มิต่างจากการจับนักศึกษาใส่เครื่องแบบ ถ้าไม่ย่อมก็จะ “ไม่ให้บริการ”

ความเป็นระเบียบเรียบร้อยอาจเป็นอุดมการณ์ของ “สถานบริการทางการศึกษา”​ กระมัง

27
ส.ค.
07

แฟ้มภาพ: บอกลาต้นไม้

treeless



พฤษภาคม 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

Blog Stats

  • 11,662 hits